กรรณิการ์ ! 10 เรื่องที่คุณอาจไม่รู้เกี่ยวกับดอกกรรณิการ์

กรรณิการ์ หรือ ดอกกรรณิการ์ หรือในชื่อสามัญ "Night blooming jasmine" เป็นหนึ่งในไม้ดอกที่คนไทยรู้จักกันดี ซึ่งในบทความนี้ผมได้นำเอา 10 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับกรรณิการ์มาฝากกัน ซึ่งมีอะไรบ้างนั้น ติดตามอ่านได้ที่บทความนี้เลยครับ.. O_O


ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับกรรณิการ์

  • ชื่อไทย : กรรณิการ์
  • ชื่อสามัญ : Night blooming jasmine
  • ชื่อวิทยาศาสตร์ : Nyctanthes arbor-tristis L.
  • ชื่ออื่นๆ : กณิการ์, กรณิการ์
  • วงศ์ : Oleaceae

ลักษณะของต้นและดอกกรรณิการ์

กรรณิการ์ เป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก มีความสูงโดยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 2-5 เมตร และสูงสุดไม่เกิน 10 เมตร ลำต้นมีลักษณะเป็นเส้นคาดรอยต้นเป็นช่วงๆ ไปตามข้อต้น กิ่งก้านมีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมโดยเฉพาะส่วนที่เป็นแขนงและกิ่งอ่อน ใบมีลักษณะเป็นใบเดี่ยว เรียงกันตรงข้ามเป็นคู่ๆ ใบโค้งมนเป็นวงรี ปลายใบแหลม ผิวของใบเรียบ สาก มีขนขึ้นเล็กน้อย


ดอกกรรณิการ์ มีสีของดอกเป็นสีขาว ออกดอกเป็นช่อแบบช่อกระจุกตามซอกใบใกล้กับปลายกิ่ง โดยแต่ละช่อจะมีดอกอยู่ประมาณ 3-8 ดอก บนช่อแยกแบบกระจุก แยกแขนงแบบแยกสาม มีใบประดับรองดอก ไร้ก้าน มีกลีบเลี้ยงเป็นรูประฆัง กลีบของดอกบิดเวียนไปทางขวาคล้ายกังหัน หลอดกลีบดอกยาวประมาณ 1 เซนติเมตร เป็นสีส้มแดง ในหนึ่งดอกมี 4-8 กลีบ ขนาดดอกเวลาบานเต็มที่จะมีขนาดอยู่ที่ 1.5 - 2 เซนติเมตร มีกลิ่มหอมแรง ออกดอกตลอดทั้งปี โดยจะบานและส่งกลิ่นหอมในเวลากลางคืน และจะร่วงหล่นในเวลาเช้ามืดหรือกลางวัน


กรรณิการ์ ถึงแม้จะเป็นไม้ดอกแต่ก็มีผลเช่นกัน โดยผลจะมีลักษณะแบบแคปซูล กลม แบน คล้ายรูปหัวใจ ปลายมีติ่งสั้นๆ มีเส้นผ่าศูนย์กลางของผลประมาณ 2 เซนติเมตร ผลแยกออกเป็น 2 ส่วน ภายในมีเมล็ดอยู่ 1-2 เมล็ด หรือ ซีกละเมล็ด

เกร็ดความรู้เกี่ยวกับกรรณิการ์ 10 เรื่อง

  1. เป็นดอกไม้ที่ถูกกล่าวถึงในกาพย์ห่อโคลง นิราศธารอโศก "กรรณิการ์ ก้านสีแดง คิดผ้าแสดติดขลิบนาง เห็นเนื้อเรื่อโรงนาง ห่มสองบ่าอ่านโนเน"
  2. กรรณิการ์ ถูกนำไปใช้ในการตั้งชื่อให้กับสิ่งต่างๆ มากมาย
  3. คนสมัยก่อนนิยมใช้กรรณิการ์มาเป็นวัตถุดิบเพื่อทำการย้อมสีผ้า
  4. ก้านดอกกรรณิการ์ สามารถนำมาใช้คั้นเป็นน้ำเพื่อเป็นสีของขนม สีของน้ำหอม
  5. นอกจากประโยชน์ทั่วไปแล้ว กรรณิการ์ ยังมีสรรพคุณทางสมุนไพรด้วย
  6. เปลือกกรรณิการ์ สามารถนำมาต้มรับประทาน เพื่อช่วยบรรเทาอาการปวดศรีษะ
  7. ดอกกรรณิการ์ สามารถนำคั้นเป็นน้ำเพื่อใช้แก้เป็นลม วิงเวียนศรีษะ เป็นยาระบาย และใช้เป็นยาขมเพื่อช่วยให้เจริญอาหาร
  8. รากกรรณิการ์ มีสรรพคุณช่วยบำรุงกำลัง บำรุงธาตุ ป้องกันผมหงอกและบำรุงผิวหน้า
  9. กรรณิการ์ ถูกเรียกในอีกชื่อว่า "ปาริชาติ"
  10. เป็นดอกไม้ที่มีถิ่นกำเนิดในอินเดีย สุมาตรา และชวา

แสดงความคิดเห็น

ใหม่กว่า เก่ากว่า