กระบวนทัศน์ หมายถึง อะไร ? (ความหมายและตัวอย่าง)

คุณมองว่าเป็น "เป็ด" หรือ "กระต่าย" ?

สารพัดเรื่องที่ไม่รู้บทความนี้ ว่าด้วยเรื่องของ "กระบวนทัศน์ หมายถึง อะไร ?" ซึ่งหลายคนคงเคยได้ยินคำนี้มาบ้าง แต่เรามาทำความรู้จักเพิ่มเติมกันดีกว่า

กระบวนทัศน์ หมายถึง วิธีคิด วิธีปฏิบัติ วิธีให้คุณค่า ซึ่งตั้งอยู่บนรากฐานของการมองโลกด้วยความเป็นจริง บางคนก็ให้ความหมายสั้นๆ กับกระบวนทัศน์ว่า คือ "ทัศนะแม่บท" เนื่องจากเป็นทัศนะรากฐานที่เป็นตัวกำหนดวิธีคิด วิธีปฏิบัติ วิธีให้คุณค่าและวิถีชีวิตของผู้คนทั้งหมด ดังตัวอย่างภาพ คุณมองว่าเป็น "เป็ด" หรือ "กระต่าย" (ใครมองเป็นอะไร ช่วยแสดงความคิดเห็นและบอกวิธีการมองไว้ในกล่องแสดงความคิดเห็นด้วยนะคร๊าบ..)

ตัวอย่าง การแพทย์แผนไทยและการแพทย์แผนปัจจุบันมีรากฐานของกระบวนทัศน์ที่แตกต่างกัน คือ การแพทย์แผนไทยมองโลกมองชีวิตในลักษณะองค์รวม อธิบายความเจ็บไข้ได้ป่วยว่ามีสาเหตุมาจากการขาดความสมดุล ส่วนการแพทย์แผนปัจจุบันมองว่า โรคภัยไข้เจ็บที่เกิดขึ้นมาจากเชื้อโรคและเนื้อเยื่อต่างๆ ที่ผิดปกติและมองว่าชีวิตเป็นกลไกแบบแยกส่วน ด้วยกระบวนทัศน์และมุมมองที่ต่างกันนี้จึงทำให้ใช้วิธีการในการรักษาที่แตกต่างกัน

จากตัวอย่างในข้างต้นจะเห็นได้ชัดว่า กระบวนทัศน์ คือ วิธีคิด วิธีปฏิบัติและวิธีให้คุณค่า ที่ตั้งอยู่บนรากฐานของมุมมอง ความรู้และความเชื่อ คำว่ากระบวนทัศน์นี้ เป็นคำที่มาจากหนังสือที่ชื่อว่า Structure of Scientific Revolution ของ Thomas Kuhn ซึ่งเค้าได้กล่าวเอาไว้ว่า เมื่อใดก็ตามที่มีการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ (paradigm shift) ก็จะเกิดการปฏิวัติทางวิทยาศาสตร์ เช่น สิ่งที่เกิดขึ้นในยุคของเซอร์ไอแซค นิวตัน และ ยุคของอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ซึ่งทั้งสองได้มองโลกด้วยกระบวนทัศน์ใหม่ หรือ กระบวนทัศน์ที่ต่างออกไปจากเดิม

ในอดีต กระบวนทัศน์ในแต่ละเรื่องมักมีรากฐานมาจากความรู้และความรู้เชื่อทางด้านศาสนา ซึ่งมักจะไม่สนับสนุนให้มนุษย์ใช้สติปัญญาคิดไตร่ตรองพิจารณา ยกตัวอย่างเช่นในยุโรปยุคกลาง ซึ่งถูกเรียกในอีกชื่อว่า "ยุคมืด" เป็นยุคที่คริสตจักรครอบงำความคิดของมนุษย์ให้เป็นไปตามหลักการที่วางโดยคริสตจักร แต่เมื่อเกิดสงคราม "ครูเสด" ยุโรปก็ได้รับเอาวิทยาการต่างๆ จากโลกอาหรับ และต่อมาก็ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ขึ้นในยุโรป ซึ่งก็คือ การปฏิรูปศาสนาและการปฏิวัติวิทยาการ จนกระทั่งทำให้ยุโรปก้าวมาเป็นผู้นำของโลกในยุคปัจจุบัน

จะเห็นได้ว่า เมื่อเกิดการเปลี่ยนกระบวนทัศน์เดิมไปเป็นกระบวนทัศน์ใหม่ ก็มักจะเกิดการเปลี่ยนที่ยิ่งใหญ่เกิดขึ้น โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงทางด้านวิทยาการ หรือ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แต่ก็ใช่ว่ากระบวนทัศน์เก่าจะเป็นสิ่งที่ไร้ซึ่งประโยชน์หรือคุณค่าไป เพราะหากพิจารณากันจริงๆ แล้ว วิทยาศาสตร์ก็ยังคงใช้กระบวนทัศน์เก่าเป็นรากฐานนำไปสู่กระบวนทัศน์ใหม่เช่นกัน เช่น ความเชื่อเรื่องโลกาวินาศ ก็เป็นกระบวนทัศน์เก่าที่นักวิทยาศาสตร์ผู้มีกระบวนทัศน์ใหม่ นำไปใช้เพื่อค้นหาคำตอบทางวิทยาศาสตร์ เป็นต้น

เขียนและเรียบเรียงโดย
GotenSum

3 ความคิดเห็น

  1. ไม่ระบุชื่อ1/08/2560

    มองเห็นเป็นทั้งสองอย่างครับ เพราะเคยมีประสบการณ์กับภาพแบบนี้มาแล้ว ตอนเเรกเห็นเป็นเป็ดแต่มันดูแปลกๆ จึงลองเปลี่ยนมุมมองก็เข้าใจว่าเป็นภาพที่สามารถมองได้สองแบบนั่นเองครับ

    ตอบลบ
  2. มองเห็นเป็นเป็ดค่ะ มันชัดกว่ากระต่ายเพราะมองแล้วก็เป็นเป็ดเลย ส่วนกระต่ายอาจจะความคิดเเดิมคือหูมันต้องชี้ขึ้น หูมันต้องมนกว่านี้ อาจจะเพราะมองแบบความเคยชินกับภาพกระต่ายในอีกแบบ

    ตอบลบ
  3. ทีแรกฉันมองแบบภาษาไทยที่เขียนจากซ้ายไปขวา เห็นเป็นเป็ดครับ พอเปลี่ยนไปมองแบบภาษาอาหรับที่เขียนจากขวาไปซ้าย ก็เลยเห็นเป็นกระต่ายครับ

    ตอบลบ
ใหม่กว่า เก่ากว่า