โครงงาน ความหมายและประเภทของโครงงาน

โครงงาน เป็นหนึ่งในสิ่งที่ผู้เรียนจะต้องเจอ โดยเฉพาะกับนักเรียนมัธยมปลาย ซึ่งการทำโครงงานนั้นถือได้ว่าเป็นหนึ่งในวิธีการวัดผลการเรียนรู้ที่ทรงประสิทธิภาพเป็นอย่างมาก เพราะจะทำให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า ผู้เรียนนั้นสามารถนำความรู้และประสบการณ์ที่ผ่านมาของตนเอง มาประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติงานจริงได้มากน้อยแค่ไหน

โครงงาน

สำหรับบทความนี้จะขอนำเสนอในส่วนของความหมายและประเภทของโครงงาน เพื่อให้ผู้ทำโครงงานได้มีความรู้ในระดับพื้นฐานก่อนที่จะเริ่มทำจริง อีกทั้งเพื่อให้การทำโครงงานนั้นเป็นไปได้อย่างราบรื่นและประสบผลสำเร็จในการทำอย่างดีที่สุด

สารบัญเนื้อหาเกี่ยวกับโครงงาน


โครงงาน คือ อะไร ?

"โครงงาน" คือ การศึกษาค้นคว้า หรือ การทดลอง หรือ การทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ผู้ทำต้องการศึกษา ต้องการรู้ สงสัย หรือต้องการแก้ปัญหา ด้วยกระบวนการที่เป็นวิทยาศาสตร์จนกระทั่งได้ข้อสรุป หรือ ผลลัพธ์ ซึ่งข้อสรุปหรือผลลัพธ์นี้อาจเป็นไปตามจุดมุ่งหมายหรือไม่ก็ได้ เพราะโครงงานนั้นเกิดขึ้นจากการที่ผู้ทำไม่เคยรู้มาก่อน ดังนั้นหากผลลัพธ์จะออกมาโดยไม่ตรงกับจุดมุ่งหมายก็มิใช่ปัญหาของการทำโครงงานแต่อย่างใด

"โครงงานก็เปรียบเสมือนกับการทำงานวิจัยเล็กๆ" เนื่องจากโครงงานนั้นมีรูปแบบ ขั้นตอนและกระบวนการไม่ต่างไปจากงานวิจัยเลย แต่สิ่งที่ต่างออกไป คือ ผู้ทำยังอยู่ในช่วงวัยที่ความสามารถในการทำอาจยังไม่เทียบเท่ากับนักศึกษา นักวิชาการ หรือ นักวิจัย เพียงเท่านั้น อีกอย่างในการทำโครงงานนั้นก็จะไม่เข้มงวดในการทำเท่ากับการทำวิจัย

ประเภทของโครงงาน

ประเภทของโครงงานนั้นได้ถูกแบ่งออกโดยใช้หลักเกณฑ์ 2 อย่างด้วยกัน คือ 1) หลักเกณฑ์ขอบเขตเนื้อหาของโครงงาน และ 2) หลักเกณฑ์วัตถุประสงค์ของการทำโครงงาน ซึ่งไม่ว่าจะเป็นโครงงานใดๆ ก็แล้วแต่ ก็จะอยู่ภายใต้หลักเกณฑ์ทั้ง 2 อย่างนี้ทั้งสิ้น อันเนื่องมาจากในโครงงานนั้นจะต้องมีทั้ง 2 อย่างนี้อยู่ด้วย กล่าวคือ การทำโครงงานต้องมีเนื้อหาที่จะทำ และ จะต้องมีวัตถุประสงค์ในการทำ ดังนั้นเรามาทำความรู้จักกับประเภทของโครงงานโดยละเอียดกันเลยดีกว่า ทั้งนี้ก็เพื่อให้สามารถทำโครงงานได้อย่างถูกต้อง

ประเภทของโครงงานตามขอบเขตของเนื้อหา

ประเภทของโครงงานตามขอบเขตของเนื้อหานั้นถูกแบ่งออกเป็น 2 ประเภทด้วย คือ
  • โครงงานตามสาระการเรียนรู้ คือ การทำโครงงานโดยดูจากขอบเขตของเนื้อหาสาระ เช่น โครงงานวิทยาศาสตร์, โครงงานคอมพิวเตอร์ และ โครงงานประวัติศาสตร์ เป็นต้น
  • โครงงานตามความสนใจ คือ การทำโครงงานในเรื่องที่ผู้ทำมีความสนใจ โดยไม่ต้องสนใจว่าโครงงานที่ทำนั้น จะอยู่ภายใต้ขอบเขตเนื้อหาใดๆ หรือไม่

ประเภทของโครงงานตามวัตถุประสงค์

ประเภทของโครงงานตามวัตถุประสงค์นั้นแบ่งออกเป็น 4 ประเภทด้วยกัน คือ
  • โครงงานที่เกี่ยวกับการสำรวจรวบรวมข้อมูล อาทิ การสำรวจฐานะทางการเงินของประชากรในจังหวัดกรุงเทพฯ, การสำรวจอาชีพของประชากรในจังหวัดใดจังหวัดหนึ่ง และ การสำรวจความคิดเห็นเรื่องใดเรื่องหนึ่งของประชากรในพื้นที่ เป็นต้น โครงงานประเภทนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการรู้ถึงสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่สามารถทำได้ด้วยการสำรวจและรวบรวมข้อมูล ซึ่งโครงงานประเภทนี้มักจะใช้เครื่องมือในการทำโครงงาน คือ แบบสำรวจ, แบบสอบถาม, แบบสังเกต เป็นต้น
  • โครงงานที่เกี่ยวกับการทดลอง อาทิ การทดลองปลูกพืชโดยไม่ใช้ดิน, การทดลองปลูกผักไร้สารพิษ, แสงมีผลต่อการเจริญเติบโตของผัก เป็นต้น โครงงานประเภทนี้มักเป็นโครงงานที่ต้องการทำการเปรียบเทียบความเหมือน ความต่าง หรือต้องการผลลัพธ์ในทางใดทางหนึ่ง ซึ่งเกิดขึ้นจากตัวแปรที่แตกต่างกัน
  • โครงงานที่เกี่ยวกับสิ่งประดิษฐ์หรือการพัฒนา อาทิ การสร้างผลิตภัณฑ์จากกระดาษ, การพัฒนาผลิตภัณฑ์จากพืชในท้องถิ่น, การแปรรูปและเพิ่มมูลค่าสินค้าทางการเกษตร เป็นต้น โครงงานประเภทนี้เป็นโครงงานที่มีวัตถุประสงค์ในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ หรือพัฒนาสิ่งที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพหรือผลลัพธ์ที่ดีขึ้น
  • โครงงานที่เกี่ยวกับทฤษฎีและหลักการ อาทิ การเกษตรตามแนวทางทฤษฎีใหม่, การผลิตก๊าซชีวภาพจากมูลสัตว์ และ การผลิตเชื้อเพลิงจากพืชทางการเกษตร เป็นต้น โครงงานประเภทนี้มักเป็นโครงงานที่ทำกันเพื่อตรวจสอบทฤษฎีและหลักการว่าเป็นไปตามนั้นหรือไม่

1 ความคิดเห็น

  1. ไม่ระบุชื่อ4/04/2561

    จิงะครับไม่บอกไม่รู้นะเนี้ย

    ตอบลบ
ใหม่กว่า เก่ากว่า