ปลาการ์ตูน 7 ชนิดในทะเลไทย มีปลาการ์ตูนชนิดใดบ้าง ? และหาดูได้ที่ไหน ?

ปลาการ์ตูน คิดว่าหลายๆ คนคงจะรู้จักปลาชนิดนี้ (ปลาการ์ตูน) แต่ปลาชนิดนี้ (ปลาการ์ตูน) ก็สามารถแบ่งแยกออกได้เป็นชนิดย่อยๆ อีกหลายชนิด และในทะเลเมืองไทยบ้านเราก็มีปลาชนิดนี้ (ปลาการ์ตูน) อาศัยอยู่เช่นกัน บทความนี้ผมจึงอยากมาแนะนำปลาการ์ตูนชนิดต่างๆ ที่มีอยู่ในทะเลไทยบ้านเราให้ท่านได้รู้จักกัน

ปลาการ์ตูนอินเดียน

1. ปลาการ์ตูนอินเดียน (Skunk Anemonefish) มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Amphiprion akallopisos มีลักษณะลำตัวค่อนข้างสั้น แบนข้าง ปากเฉียงขึ้นด้านบนเล็กน้อย ครีบหู ครีบท้องและครีบห้างมีขนาดใหญ่ สีสันของปลาชนิดนี้มีสีน้ำตาลอมส้ม ด้านบนมีสีเข้มกว่าด้านท้อง ด้านบนสุดมีแถบสีขาวพาดตามยาวหนึ่งแถบ เริ่มจากปลายส่วนหัวแต่ไม่ถึงริมฝีปากไปจนชนกับครีบหาง สามารถพบเห็นได้ทั่วไปแต่เฉพาะทะเลฝั่งอันดามัน

ปลาการ์ตูนปานดำ

2. ปลาการ์ตูนปานดำหรือปลามะเขือเทศ (Red Saddleback Anemonefish) มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Amphiprion ephippium มีลักษะลำตัวค่อนข้างสั้นป้อม แบนข้าง ครีบหู ครีบหาง ปลายครีบหลังและครีบก้นกลมมน สีของตัวและครีบทุกครีบมีสีส้มอมน้ำตาล ลำตัวด้านบนค่อนมาทางด้านท้ายมีปานสีดำขนาดใหญ่ สามารถพบเห็นได้เฉพาะทะเลฝั่งอันดามัน และพบได้บ่อยบริเวณหมู่เกาะ สุรินทร์ จังหวัดพังงา และเกาะอาดัง-ราวี จังหวัดสตูล

ปลาการ์ตูนสองบั้ง

3. ปลาการ์ตูนสองบั้ง (Sabee Anemonefish) มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Pomacentridae มีลักษณะลำตัวค่อนข้างสั้น แบนข้าง สีพื้นของตัวมีสีดำใต้คางและอกมีสีเทา มีแถบหนาสีขาวพลาดขวาง 2 แถบ แถบที่ 1 อยู่บริเวณหัว แถบที่ 2 อยู่บริเวณกลางครีบหลังและลงมาจนถึงท้อง ต่างจากปลาการ์ตูนอานม้าที่ลงมาถึงแค่กลางลำตัว ครีบหางมีสีเหลืองสด พบได้เฉพาะทะเลฝั่งอันดามัน และพบได้บ่อยบริเวณจังหวัดภูเก็ต เกาะยูงจังหวัดกระบี่ หมู่เกาะเภตราจังหวัดสตูล

ปลาการ์ตูนลายปล้อง

4. ปลาการ์ตูนลายปล้อง (Clark's Anemonefish) มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Amphiprion clarkii มีลักษณะลำตัวค่อนข้างป้อม แบนข้าง ครีบหูและครีบท้องมีขนาดใหญ่ ครีบหางแบบเว้าตื้นในปลาวัยเด็ก เมื่อโตขึ้นครีบหางจะเว้าลึกขึ้นรวมทั้งมีปลายแพนหางบนและล่างยื่นยาวออกไปเล็กน้อย สีของปลาที่พบในบ้านเรามีอย่างน้อย 2 แบบ แบบที่ 1 ลำตัวส่วนบน ครีบห่างและครีบก้นเป็นสีดำ ครีบท้อง ครีบหูและครีบหางเป็นสีเหลือง มีแถบกว้าง 3 แถบ พาดขวางลำตัว แบบที่ 2 คล้ายแบบที่ 1 แต่สีเหลืองลงมาถึงแค่อกไม่ถึงท้อง ครีบท้องและฐานครีบหูเป็นสีดำ

ปลาการ์ตูนอานม้า

5. ปลาการ์ตูนอานม้าหรือเห็ดทะเล (Saddleback Anemonefish) มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Amphiprion polymnus มีลักษณะลำตัวค่อนข้างสั้น แบนข้าง ครีบหลังค่อนข้างเตี้ยกว่าปลาการ์ตุนชนิดอื่น ลำตัวสีดำ มีแถบหนาสีขาว 2 แถบ แถบที่ 1 พาดขวางบริเวณหัว แถบที่ 2 อยู่บริเวณกึ่งกลางครีบหลังลงมาถึงประมาณกลางลำตัว ครีบหางมีแถบรูปลิ่มสีขาวที่ขอบบนและล่าง ในประเทศไทยพบได้เฉพาะบริเวณทะเลฝั่งอ่าวไทยเท่านั้น ซึ่งพบได้บ่อยบริเวณ เกาะช้าง จังหวัดตราด และหมู่เกาะในจังหวัดชลบุรี

ปลาการ์ตูนอินเดียนแดง

6. ปลาการ์ตูนอินเดียนแดง (Pink Anemonefish) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Amphiprion perideraion มีลักษณะลำตัวค่อนข้างสั้น แบนข้าง สีพื้นของตัวมีสีน้ำตาลอมส้ม ด้านบนของลำตัวมีสีเข้มกว่าด้านท้องและโทนสีของตัวจะมีสีส้มแดงมากกว่าปลาการ์ตูนอินเดียน มีแถบสีขาวพาดตามยาวที่ด้านหลัง และมีแถบสีขาวพาดขวางที่ส่วนหัวบริเวณระหว่างขอบของแผ่นปิดเหงือกอันหน้าและแผ่นปิดเหงือก พบได้เฉพาะบริเวณทะเลฝั่งอ่าวไทย และพบได้บ่อยในบริเวณหมู่เกาะของจังหวัดชลบุรี ระยอง ชุมพรและสุราษฎร์ธานี

ปลาการ์ตูนส้มขาว

7. ปลาการ์ตูนส้มขาว (False Clown Anemonefish) มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Amphiprion ocellaris เป็นชนิดของปลาการ์ตูนที่รู้จักกันดี เนื่องจากได้เคยมีภาพยนตร์อะนิเมชั่นเรื่องดัง ที่ทำเกี่ยวกับปลาชนิดนี้ ปลาการ์ตูนส้มขาวมีลักษณะลำตัวค่อนข้างยาวกว่าปลาการ์ตูนชนิดอื่นๆ ครีบหูและครีบหางกลม สีพื้นของตัวมีสีส้ม มีแถบหน้าสีขาว 3 แถบ พาดขวางบริเวณหัว ลำตัว และคอดหาง บริเวณขอบของแถบสีขาวมีสีดำ โดยปกติแล้วขอบสีดำของปลาการ์ตูนชนิดนี้จะบางกว่า และครีบหลังตอนหน้ายกสูงกว่า พบได้ทั่วในทะเลฝั่งอันดามัน

แสดงความคิดเห็น

ใหม่กว่า เก่ากว่า